ในปัจจุบันจะเพียงสักกี่เกมที่มีอายุนานและได้รับความนิยมระดับโลกอยู่ในขณะนี้ หนึ่งในนั้นคือเกม “DOTA2”
วันนี้ Gamerr.net เราจะมารื้อฟื้นกันหน่อยว่าจุดกำเนิดของ Dota2 นั้นมีต้นหมายปลายเหตุอย่างไร
จุดเริ่มต้น
ต้องขอย้อนกันไปตั้งแต่ปี 1998 โลกได้รู้จักกับเกมที่มีชื่อว่า “Future Cop : LAPD” แพลตฟอร์ม PC และ PS ภายใต้การพัฒนาของ EA เกมนี้ถือเป็นเกมต้นแบบเกมแนวโมบ้าในรูปแบบที่ค่อนข้างสมบูรณ์เลยก็ว่าได้ เกม Future Cop : LAPD เป็นเกมมุมมองบุคคลที่สาม ผู้เล่นจะมีตัวละครเป็นยานอวกาศลักษณะของเกมเพลย์จะมีแผนที่ มีบอทที่คอยออกมาต่อสู้กับเรามีแผนที่ที่เชื่อมโยงถึงกันทั่วทั้งแผนที่ เรียกได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่ค่อนข้างครบเลยทีเดียว
หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 เดือนภายในปีเดียวกัน ผู้พัฒนาอย่างบลิซซาร์ดเอ็นเตอร์เทนเมนต์ได้เปิดตัวเกมที่มีชื่อว่า “Star Craft : Brood War” เกมแนว RTS (Real Time Strategy) หรือที่บ้านเราพูดกันคุ้นหูว่าเกมสร้างฐาน หรือ เกมวางแผนการรบนั้นเอง ถามว่าเกมสตาร์คราฟเกี่ยวข้องอะไรกับ DOTA2 เพราะเกมค่อนข้างมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
คือเกม Star Craft : Brood War ในตอนนั้นเนี่ยทางผู้พัฒนาเขาได้ปล่อยให้ผู้เล่นทั่วโลกสามารถสร้าง Mod (Modify)ของตัวเองขึ้นมาได้ถ้าใครไม่เข้าใจว่า mod คืออะไรให้เรานึกถึง แอพสโตร์ของแอปเปิ้ล สตาร์คราฟในตอนนั้นเปรียบเสมือน แอพสโตร์ แล้ว mod คือแอพพลิเคชั่น อะไรทำนองนั้น แต่การสร้าง mod ในครั้งนี้ไม่ใช้เพียงการเปลี่ยนสีเปลี่ยนรูปร่างตัวละครเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถสร้าง Objective ขึ้นมาเองได้อีกด้วย ออฟเจคทีฟ ก็คือวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายของเกมนั้นเอง ถ้าอย่างใน Star Craft : Brood War คุณจะชนะฝ่ายตรงข้ามได้คุณต้องนำกองกำลังไปกำจัดฝ่ายตรงให้สิ้นซากคุณถึงจะชนะ แต่การสร้าง mod ในลักษณะที่เราได้กล่าวไปคือ คุณอาจจะบอกว่าการจำกัดฝ่ายตรงข้ามให้หมดอาจไม่ได้ชนะ แต่การชนะกันอาจเป็นผู้เล่นที่มีเงินมากที่สุดในเกมอะไรประมาณนั้น
แน่นอนว่าการจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างคงไม่ใช่การ mod แบบที่เราได้ยกตัวอย่างไปอย่างแน่นอน แต่มีนัก mod คนหนึ่งที่มีชื่อว่า Aeon64 ได้ทำการ mod แผนที่ Aeon of Strife ขึ้นมาเพียงเพราะ การเล่นสตาร์คราฟจำเป็นต้องควบคุมยูนิตเยอะแยะมากมาย เขาจึงเปลี่ยนเป็นให้มีฮีโร่เพียงตัวเดียวแบ่งแผนที่เป็น 3 ทางแล้วมาต่อสู้กัน
จุดกำเนิด Dota
ต่อมาในปี 2002 ผู้พัฒนาบลิซซาร์ดเอ็นเตอร์เทนเมนต์เจ้าเก่าเจ้าเดิมก็ได้สร้างเกมแนว RTS อีกครั้งแต่ในครั้งนี้ยิ่งใหญ่กว่าเดิมนั้นก็คือ “Warcraft 3” ซึ่งเกมนี้เกมเมอร์ไทยน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่ทำให้เกิด dota เลยก็คือในปีต่อมา มีชายคนหนึ่งที่มีนามว่า “Eul” (อิลล์) เขาเป็นแฟนตัวยงของ Aeon of Strife อยู่แล้วจึงได้แรงบันดาลใจในการพัฒนาต่อยอดโปรเจคถัดมาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นก็คือ “Defense of the Acients”
มันก็ดูจะเป็นอะไรที่สมเหตุสมผลไม่น้อยเพราะว่า Warcraft 3 ออกมาปี 2002 Eul ใช้เวลาหนึ่งปีในการศึกษาออกแบบรูปแบบต่าง ๆ ทั้งรายละเอียดฮีโร่การออกแบบแผนที่ เพราะใน Aeon of Strife มีฮีโร่เพียง 8 ตัวและทำได้แค่อัพเกรดตัวเองให้เก่งขึ้น แต่ในdotaมีรายละเอียดที่ค่อนข้างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งการซื้อไอเท็ม,การอัพสกิล,หมวดหมู่ฮีโร่ และเหล่าเกมเมอร์ก็คุ้นชินกับตัวฮีโร่ใน Warcraft 3 เป็นอย่างดีอยู่พอสมควร
หลังจากที่ Eul ได้สร้างผลงานชิ้นเอกนี้ไว้ก็มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เขาทิ้งโปรเจคอันนี้ของเขาไป และชื่อของเขาก็เริ่มที่จะจางให้ไปในความทรงจำของผู้คน หลังจากนั้นไม่นาน Warcraft 3 ก็ได้เพิ่มโฉมใหม่ให้กับตัวเกมอีกครั้ง ถ้าให้เปรียบเป็นสมัยนี้คงเสมือน DLC อะไรทำนองนั้น นั่นคือ Warcraft Frozen Throne ภาคเสริมนี้เป็นการนำ mod ต่าง ๆ ที่มีคนลักษณะคล้าย Eul ทำขึ้นมาในรูปแบบ dota
Warcraft Frozen Throne จึงนำเอาทุก mod มาปรุงใหม่ให้กลมกล่อมกลายมาเป็นโปรเจค “Dota All Star” หรือชื่อที่คุ้นหูกันก็คือ “ดอทเอ” หรืออีกชื่อที่พูดกันในหมู่เพื่อนแล้วเป็นว่ารู้กัน “ตีดอท” นั้นเอง ซึ่งตอนนี้ dota เป็นเกมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่จุดเปลี่ยนอีกครั้งที่สำคัญก็คือ “สตีฟ ฟีค” เกมดีไซส์เนอร์ฝีมือดีที่เข้ามามีบทบาทแทน Eul ในการพัฒนาแบบเป็นรูปแบบ ตั้งแต่ ฟีค เข้ามาเป็นทีมพัฒนาหลักเขาก็ได้ชักชวนเพื่อนในมหาวิทยาลัยมาทำงานร่วมกัน จนทำให้เกม dota ในตอนนั้นเริ่มมีรายละเอียดของเกมที่มากขึ้นความซับซ้อนที่น่าค้นหา แต่ดูเหมือนว่าทีมพัฒนาชุดนี้จะมีอนาคตที่ดีกับ dota แต่แล้วพวกเขาก็หายออกยกทีมเป็นทำงานให้กับคู่แข่ง ซึ่งในเชิงลึกก็ไม่ได้มีเหตุผลที่ซับซ้อนดราม่าอะไรแต่อย่างใด ทุกอย่างของ dota ยังคงดำเนินต่อไปในยุคของ “Ice Frog”
พอมาถึงในยุคของ Ice Frog (ภายในทีมพัฒนาของ Ice Frog มีนักพัฒนาที่เป็นชาวไทยอยู่ในทีมด้วย เขาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบฮีโร่ต่าง ๆ ใน dota อย่าง Huskar ฮีโร่ตัวแรก ๆ ที่เป็นสาย Str ที่โจมตีระยะไกล) หลังจากนั้นเกิดปรากฎการณ์มากมายถึงในระดับที่มีการแข่งขันกันในรูปแบบ E-sports อีกด้วยนั้นคือรายการ WCG (World Cyber Games) ประเทศไทยมีส่วนร่วมในงานนี้ด้วย ซึ่งผลงานดีกรีถึงรองแชมป์รายการเลยทีเดียว ต่อมาการแข่งขันในรูปแบบ E-sports เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นขยายเป็นวงกว้างในระดับโลก แต่แน่นอนว่ายังเทียบไม่ติดกับในปัจจุบัน
DOTA เป็นเกมในกระแสติดลมบนไปเป็นที่เรียบร้อย ในไทยเองตอนนั้นต้องขอย้ำอีกทีว่าเกมเมอร์ชาวไทยของเราตอนนั้นติดกันงอมแงมชนิดที่ว่าโดดเรียนมาเล่นก็ยอม แต่ช่วงนั้นอีกเรื่องหนึ่งที่เราไม่ได้พูดไปก็คือปัญหาเรื่องของเซิฟเวอร์ที่ไม่ค่อยจะเสถียรนัก จึงกำเนิด TCGNetwork ขึ้นมาพอจำกันได้หรือไม่ ที่จะเป็นหน้าต่างให้เราเลือกเซิฟเวอร์และเลือกประเภทของโหมดห้องที่จะเข้าไปเล่น -ap / -apem ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดีจนกระทั่ง
ปี 2008 กำเนิด Heroes of Newerth (HON) โปรเจคเกมโคลนนิ่ง DOTA แต่ขอแยกออกมาเป็นเอกเทศของตัวเอง ซึ่งในช่วงแรกผลตอบรับค่อนข้างแย่ในไทยเพราะจำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อโค้ดไอดี 1 โค้ดสมัครได้ 3 ไอดี แต่เกมนี้เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในต่างประเทศ เพราะ hon เข้ามาแก้ปัญหาที่เรื้อรังมานานของ dota ก็คือมีผู้เล่นกดออกเกมในระหว่างเกมที่กำลังดำเนินอยู่ hon แก้ปัญหาโดยการมีบทลงโทษต่อผู้เล่นที่ทำการออกจากเกมในระหว่างการเล่น ส่งผลให้ผู้เล่นตระหนักเรื่องแบบนี้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งระบบ MMR ในการคัดแยกระดับฝีมือของผู้เล่น ซึ่งก่อนหน้านี้ใน dota เราจะคัดแยกระดับฝีมือของผู้เล่นโดยวัดจากการตั้งชื่อ ฮาฮา!! ใครจะมาตั้ง lnwza007 ถ้าไม่ใช่ Host หรือเพื่อนเป็น Host คงไม่มีทางได้เล่นอย่างแน่นอน แต่ก็จะมีพวกแอบมาแกล้งเด็กใหม่ ปัจจุบันเรามักจะรู้จักกันในนาม “สเมิฟ” คือพวกที่เก่ง ๆ แฝงตัวเข้ามาปะปนกับผู้เล่นที่ไม่เก่งเท่าไหร่ วิธีสเมิฟของ dota ในสมัยนั้นคือการตั้งชื่อให้ดูไม่น่าเชื่อถือเข้าไว้ อย่าง lnwza007 ก็ถือว่าเป็นชื่อที่ตอบโจทย์พวกสเมิฟได้ดี
กลับมาที่ HON ในบ้านเราเองเริ่มได้รับความนิยมแบบจริง ๆ จัง ๆคือตอนที่ Garena นำเกมเข้ามาให้เล่นกันฟรี ๆ นี่และเป็นจุดพีคของเกม HON ในบ้านเราเลยก็ว่าได้ แล้วก็เกม HON เกมนี้นี่และที่เป็นเกมต้นแบบวาดภาพความเป็น E-sports ในบ้านเราให้กับยุคปัจจุบัน ช่วงที่ไทยเราได้แชมป์โลก อาชีพนักกีฬาอีสปอร์ตเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ในบ้านเรา แต่แล้วกระแสของ HON ก็เริ่มที่จะเบาบางลงเรื่อย ๆ ก็เพราะว่า
การเปลี่ยนแปลง
ปี 2010 กำเนิด DOTA2 โปรเจคครั้งยิ่งใหญ่ของ Valve จุดเริ่มต้นเลยก็คือ ทีมของ Ice Frog ได้เข้าไปเสนอโปรเจค dota2 กับ “Gabe Newell” เพื่อทำโปรเจคนี้มาแข่งกับเกมแนวโมบ้าที่เกิดขึ้นมาใหม่ ๆ ในยุคนั้นไม่ว่าจะทั้ง HON และ LOL เองก็ตาม จนในปี 2011 โลกต้องจารึกกับเหตุการณ์นี้เลยก็คือ The International 2011 หรือ TI1 ที่ต้องจารึกไว้เลยก็คือ เงินรางวัลในรายการ TI1 มีเงินรางวัลรวมสูงถึง $1.3M หรือราว 30.5ล้านบาท เงินรางวัลขนาดนั้นเมื่อ 8 ปีก่อนเป็นเรื่องที่ไม่ปกติอย่างแน่นอน ซึ่งเดาได้ไม่ยากว่าคนทั่วทั้งมุมโลกจับตาและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
หลังจากนั้นรายการ The International ก็สร้างชื่อให้กับตัวเองเรื่อยมากับการอัดฉีดเงินรางวัลให้สูงขึ้นทุกปีที่จัดการแข่งขัน และเงินรางวัลสูงที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมาในวงการอีสปอร์ต กระแสของ dota2 ดีขึ้นมาเรื่อย ๆ ทุกปีแต่ในบ้านเรากลับยังไม่ได้รับความนิยมมากในช่วงแรก เพราะตลาด Steam ในบ้านเราตอนนั้นถือเป็นตลาดที่เล็กมากเมื่อเทียบกับ Garena แต่ทั่วโลก Steam คือใหญ่มาก แต่ก็อย่างที่เราได้กล่าวกันไปข้างต้นว่า เงินรางวัลของ TI สูงขึ้นทุกปีสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดจนโลกต้องจับตามองว่าทำไมเงินรางวัลมันถึงเยอะขนาดนั้นล่าสุดแทบจะแตะ พันล้านบาท ไปแล้ว และนี้ก็เป็นเรื่องราวตั้งแต่ต้นกำเนิดของ dota จนถึงปัจจุบันเป็น dota2 เพื่อน ๆ คิดเห็นกันอย่างไรบ้างครับ
ความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับ dota2 ที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา
พอเอาเข้าจริง ๆ สำหรับใครที่เป็นผู้เล่น Dota2 อยู่แล้วคงจะแปลกใจกันบ้างไหมละครับว่า ทำไมทุกวันนี้อยู่ดี ๆ dota2 กลับมาได้รับความนิยมมากเหลือเกินในบ้านเรา สำหรับผมเองผมมองไว้ 2 มุมที่ dota2 ได้รับความนิยมแบบสายฟ้าแลบในปัจจุบัน มุมแรก ผมมองว่าตลาดอีสปอร์ตโตขึ้นในระดับที่ใครก็จินตนาการไม่ถึงเกม dota2 เป็นเกมที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วในสังคมวงกว้าง ยิ่งพอวงการอีสปอร์ตโตอย่างก้าวกระโดด จึงไม่แปลกที่มันจได้รับความนิยมอันนี้คือมุมที่หนึ่ง
มุมมองที่สองคือ TI9 ที่เป็นตัวจุดประกายกระแสของ dota2 ในบ้านเราได้เป็นอย่างดี เหตุผลที่หนึ่ง เรื่องของเงินรางวัลใน TI9 ที่ใครเห็นแล้วต้องตาค้างว่านี่มันเงินรางวัลแข่งขันเกมจริง ๆ หรือ OG ที่ได้แชมป์รับเงินรางวัลไปเกือบ 400ล้านบาท ทีมอันดับสุดท้ายได้เงินค่าตั๋วบินกลับบ้านติดมือไป 10กว่าล้านบาท เหตุผลต่อมาคือมีเพลย์เยอร์ชาวไทยมีโอกาสได้ไปเข้าร่วมการแข่งขันกับทีมระดับโลกในเวทีระดับโลกมันเลยปลุกความเป็นชาตินิยมในตัวของเราออกมา เสมือนนักกีฬาไทยไปแข่งกีฬาโอลิมปิกอย่างไงอย่างงั้น และเป็นช่วงประจวบเหมาะกับการมีนักการเมืองชื่อดังพูดถึงเกี่ยวกับโปรเพลย์เยอร์ กับการได้ไปเล่นในเวทีระดับโลกยิ่งเป็นการส่งเสริมกระแสของเกมให้มีความนิยมมากขึ้นไปอีกขั้น ล่าสุดกำลังจะมี 2 ผู้เล่นชาวไทยที่จะได้ไปเล่นในเวทีระดับโลกคราวนี้ไปกันใหญ่ แต่ ๆ แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นเรื่องที่ดีและน่าสนับสนุน เราหวังว่าจะได้เห็นความยิ่งใหญ่ของวงการอีสปอร์ตไปได้ไกลมากกว่านี้ในอนาคตอันใกล้ เหล่าเกมเมอร์เห็นด้วยไหมครับ!!
หากต้องการชมเนื้อหาประเภทอื่น ๆ ของ gamerr.net สามารถชมเพิ่มเติมได้ที่ >>> คลิ๊ก