fbpx
Monday, October 7, 2024
Homeสกู๊ปพิเศษTip & Trick100 ชั่วโมงแรกของผู้เล่น Dota2 มือใหม่ควรทำอะไร

100 ชั่วโมงแรกของผู้เล่น Dota2 มือใหม่ควรทำอะไร

หลังจากที่ Valve ปรับรูปแบบการเล่นของผู้เล่นใหม่ จากการเล่น 100 เกม เปลี่ยนเป็น 100 ชั่วโมงแทน เพื่อการปลดล็อคการเล่นแบบจัดอันดับ สิ่งที่ Valve ทำก็เพื่อให้ผู้เล่นมือใหม่ได้ปรับตัวพร้อมทำความใจกับเกมให้ได้มากที่สุด และเป็นการสร้างสังคมที่ดีให้กับชาว dota2 ทุกท่าน

แล้ว 100 ชั่วโมงแรกมือใหม่ควรทำอย่างไรดี?

ถ้าคุณเป็นคนที่เล่นเกมแนว Moba อยู่แล้วสิ่งแรกที่คุณควรจะทำคือ เปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ ของ dota2 อย่าพยายามยึดติดกับเทคนิคเดิม ๆ ที่เคยใช้มาในเกมอื่น ๆ เพราะ dota2 เป็นเกมที่มีการอัพเดทแพทอยู่เสมอ เมต้าในการเล่นแทบจะเปลี่ยนไปทุกเดือน ๆ เราจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันแพทใหม่ ไม่ว่าจะเป็นไอเท็ม หรือ ฮีโร่ก็ตาม

หากคุณเป็นมือใหม่มาก ๆ ไม่เคยเล่นเกมแนว Moba มาก่อน คุณจะต้องเหนื่อยกว่าผู้เล่นที่มีพื้นฐานมากพอสมควร คุณจำเป็นต้องทำการบ้านหาข้อมูลเกี่ยวกับพื้นฐานในการเล่นเกมนี้ ถ้าอย่างนั้นเรามาเริ่มกันเลยว่า 100 ชั่วโมงแรกมือใหม่ควรจะทำอย่างไรดี

ก่อนเริ่มเล่นเกมแรก ควรปูพื้นฐานก่อน

แผนที่ dota2

ขั้นแรกเรามาทำความรู้จักกับรายละเอียดของแผนที่กันก่อน แผนที่ของโดต้าจะแบ่งเป็น 2 ฝั่งจะเป็นฝั่ง Radiant และ Dire ซึ่งในแผนที่จะมีส่วนเชื่อมถึงทั้งหมด โดยหลัก ๆ จะแบ่งเป็น 3 เลนด้วยกัน คือ Top lane / Midlane / Bot lane หรือ เลนบน,เลนกลาง,และเลนล่างนั้นเอง ซึ่งเลนจะถูกแบ่งเป็น เลนยาก กับ เลนง่าย แบ่งอย่างไรก็คือ เมื่อคุณอยู่ Radiant เลนบนจะเลนยาก “ยาก” หมายความว่ามันไม่ง่าย ใช่ครับคุณไม่ได้อ่านผิดและเราไมมีมีเจตนาจะกวนโอ๊ยแต่อย่างใด เมื่อไหร่ก็ตามสมมติคุณไปอยู่เลนยาก นั้นหมายความว่าคุณมีโอกาสที่จะถูกฝ่ายตรงข้ามเล่นงานได้ง่ายกว่าเลนอื่น ๆ เพราะว่าครีปของเลนยากจะดันขึ้นไปสูง และทำให้คุณอยู่ไกลป้อมฝั่งของตัวเอง กับกันฝั่งของ Dire เลนบนจะเป็นเลนง่ายสำหรับเขา เพราะครีปจะอยู่ใกล้หน้าป้อมนั้นเอง ซึ่งแน่นอนว่า เลนล่างก็จะเป็นเลนง่ายของฝั่ง Radiant เช่นเดียวกัน พูดง่าย ๆ ก็คือสลับกันนั่นและ แต่เดี๋ยวเรื่องเลนจะมีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งของฮีโร่ เดี๋ยวเราจะไปพูดกันในหัวข้อฮีโร่อีกที

ร้านค้าในแผนที่จะมี 2 รูปแบบคือ ร้านค้าลับ และร้านค้าข้างเลน แต่ละร้านค้าจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของสินค้าในร้าน (ไม่รวมร้านค้าในบ้าน) ซึ่งโดยส่วนมากแล้วไอเท็ม ๆ ไปจะสามารถซื้อได้จากที่บ้าน แต่จะมีไอเท็มบางชนิดที่ต้องซื้อในร้านค้าลับ ส่วนร้านค้าข้างเลน จะเป็นไอเท็มที่มีบางชนิดผสมกันอยู่ เพื่อซื้อในช่วงต้นเกม การออกไอเท็มผู้เล่นใหม่จำเป็นต้องค่อย ๆ เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ แล้วจะคล่องเอง ช่วงแรกซื้อของอาจช้าไปสักหน่อยแต่ไม่เป็นมันจะเริ่มดีขึ้นเอง

ต่อไปเป็น Shrine น้ำพุขนาดเล็กภายในป่าของตัวเองทั้งฝั่งบนและล่าง Shrine หรือ น้ำพุเล็ก จะทำหน้าที่คล้ายกับบ่อน้ำพุในบ้านคือช่วยเพิ่ม Hp และ Sp ให้กับตัวละครเป็นเวลา 5 วินาที ความสำคัญของ Shrine ก็คือเราไม่จำเป็นต้องกลับไปเติมเลือดในบ้าน ประหยัดเวลาเพื่อมาเล่นต่อ การจะใช้ Shrine ได้ต้องผ่าน 5 นาทีแรกเป็นต้นไป และลดหลั่นไปตามลำดับ

ครีปป่าจะมีครีปธรรมดาทั่วไป กับ แอนเชียทครีป ครีปป่าทั่วไปจะให้ ค่าประสบการณ์ และ เงิน น้อยกว่าครีปในเลน แต่แอนเชียทครีปจะให้ ค่าประสบการณ์ และ เงิน มากกว่า แน่นอนว่าฮีโร่จำเป็นต้องมีเลเวลที่มากพอหรือสกิลในการช่วยกำจัดแอนเชียทครีป สำหรับผู้เล่นใหม่ควรให้ความสนใจครีปเลนเป็นอันดับแรก และครีปป่าเป็นอันดับรอง

ป้อม หรือ Tower หลักการทำงานของป้อม ป้อมจะโจมตียูนิตที่ใกล้ที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก แต่ถ้าตัวเราอยู่ในเขตการทำงานของป้อม แล้วมีศัตรูอยู่ในเขตด้วยกัน แล้วศัตรูโจมตีเราหรือใช้สกิลใส่เราป้อมจะทำการโจมตีศัตรูที่อยู่ใกล้ที่สุดก่อน หากมีศัตรูมากกว่า 1 ตัวขึ้นไป อีกทั้งป้อมจะมีหน้าที่การให้การมุมเห็นภายในแผนที่ สามารถตรวจจับยูนิตที่ล่องหนได้ ถ้ายูนิตนั้นเข้ามาในเขตการทำงานของป้อม

ตำแหน่งในการเล่น

ตำแหน่งในการเล่นเกมโดต้า 2 นั้นจะมีตำแหน่งทั้งหมด 5 ตำแหน่งด้วยกันคือ แครี่ (Pos1) เลนกลาง (Pos2) ออฟเลน (Pos3) ซัพพอร์ทรอง (Pos4) ซัพพอร์ทหลัก (Pos5) ซึ่งแต่ละตำแหน่งจะมีหน้าที่และวิธีการเล่นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง งั้นเรามาดูกันว่าแต่ละตำแหน่งเป็นอย่างไรกันบ้าง

แครี่ หรือ Position1 (Pos 1)

คือฮีโร่ตำแหน่งที่หนึ่งในการให้ความสำคัญและใช้ทรัพยากรของทีมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อของเวลา เรียกเพื่อนมาช่วย ค่าประสบการณ์ และการเงิน เพราะในแผนที่มันจะมีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด ตำแหน่งที่ 1 มีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงทรัพยากรนั้น ๆ ได้อย่างเต็มที่

เลนกลาง หรือ Position2 (Pos 2)

ที่คนทั่วไปจะพูดติดปากกันว่า มิดเลน เลนกลางจะถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับที่สองรองจากแครี่

ออฟเลน หรือ Position3 (Pos 3)

ตำแหน่งนี้จะถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับที่สาม คำว่าการให้ความสำคัญ ผมยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ๆ แบบนี้ สมมติว่าคุณกำลังฟาร์มครีปชุดหนึ่งอยู่ แล้ว ผู้เล่น Po1 หรือ Po2 เดินมาขอฟาร์มเพราะกำลังจะได้ไอเท็มอะไรบางชิ้น คุณจำเป็นต้องให้เพื่อนร่วมทีมก่อน เพราะด้วยตำแหน่งฮีโร่เขามีบทบาทกับเกมมากพอสมควร เสมือนเป็นการแบ่งทรัพยากรกันไปตามลำดับความสำคัญ

ซัพพอร์ทรอง หรือ Position4 (Pos 4)

ตำแหน่งนี้จะเป็นตำแหน่งสนับสนุนทีม ไม่ว่าจะเป็นเลเวล หรือ เงิน ให้กับ Po 1 – 2 – 3 เน้นการช่วยทีมเป็นหลัก

ซัพพอร์ทหลัก หรือ Position5 (Pos 5)

ตำแหน่งนี้ขอใช้คำว่า ถวายชีวิตให้กับทีม ฮาฮา!! ทำทุกอย่างเพื่อให้ทีมเล่นง่ายที่สุด แม้ตัวเองจะต้องตายก็ยอม พูดง่าย ๆ ว่าปิดทองหลังพระ ถึงสกอร์จะไม่สวย เป็นผู้ถูกกระทำ ไอเท็มไม่มี แต่ทีมขาดคุณไม่ได้ และเป็นตำแหน่งที่มีคนเล่นน้อยมาก

หน้าที่ของฮีโร่แต่ละตำแหน่ง

แครี่

มีหน้าที่ฟาร์มให้ตัวเองเก่งให้ได้มากที่สุดเพื่อมา เล่นในช่วงท้ายเกม นำทรัพยากรที่เพื่อนร่วมทีมให้ในช่วงแรกมาตอบแทนเพื่อน ๆ ที่ได้เสียสละให้คุณไป มันค่อนข้างเป็นตำแหน่งที่ต้องรับภาระมากที่สุดในทีม เกมจะชนะไม่ชนะขึ้นอยู่กับคุณ ถ้าคุณคิดว่าคุณมีความมั่นใจในตัวเองที่มากพอ และสามารถทนต่อแรงกดดันทั้งฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายทีมตัวเอง ตำแหน่งแครี่ Position1 (Pos 1) ก็อาจจะเหมาะกับคุณก็ได้

มิดเลน หรือ เลนกลาง

จะเป็นตำแหน่งที่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่าแครี่ ลงมาเล็กน้อย มีหน้าที่ชงเกมให้กับเพื่อนร่วมทีม ทำเกมเพื่อให้เกมของทีมตัวเองได้เปรียบมากที่สุด เพราะว่าเลนกลางจะเป็นเลนที่มีเลเวลเร็วที่สุด และรวยที่สุดในบรรดาทุกเลน ในช่วงต้นเกม และคุณต้องใช้ประโยชน์จากตรงนั้นในการเข้าไปกดดันฝ่ายตรงข้ามให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตำแหน่งนี้เหมาะกับใคร เหมาะสำหรับคนที่มีนิสัยชอบความท้าทายความเสี่ยง กล้าที่จะเล่นกล้าตัดสินใจ และไม่กลัวความผิดพลาด

ออฟเลน

จะเป็นตำแหน่งที่ใช้ทรัพยากรน้อยหน่อย เน้นการประคองเกมทำเกมร่วมกับเพื่อน ไม่เน้นฟาร์มมาก โดยส่วนมากตำแหน่งนี้จะเล่นฮีโร่ที่เก่งเร็ว ๆ ใช้ไอเท็มน้อยแต่เก่งด้วยฮีโร่และสกิล บทบาทท้ายเกมอาจน้อยลงไปบ้าง พูดง่าย ๆ ว่าเป็นฮีโร่ต้นเกม กับกลางเกม ออฟเลนจะเก่งมาก ๆ ในช่วงนี้ เหมาะสำหรับใคร เหมาะสำหรับคนที่ค่อนข้างมีความอดทนพอสมควร เพราะคุณจำเป็นจะต้องไปอยู่เลนยาก ที่เราได้พูดไว้ช่วงแรก ที่บอกว่าอดทนคือยังไง บางครั้งคุณอาจต้องไปยืนเลนคนเดียว แล้วต้องเจอฝ่ายตรงข้ามรุมแกล้งคุณอย่างสนุกสนาน ฮีโร่ที่เล่นก็ค่อนข้างจำกัด ไม่หลากหลายมากเท่าไหร่นัก แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เกมนั้น ๆ ด้วย

ซัพพอร์ทรอง

จะเป็นซัพพอร์ทที่เน้นการเดินเกมเป็นหลัก เดินทะเลาะกับเลนอื่นตลอด เพื่อปั้นเกมในช่วงเลนเฝด เลนเฝดคือช่วง 1-10 นาทีแรก เน้นการออกไอเท็มซัพพอร์ททีมเป็นหลัก ไม่ห่วงฟาร์ม เก็บเงินจากการเดินเกมกำจัดฝ่ายตรงข้าม สมัยนี้มือใหม่มักเข้าใจผิดว่าซัพพอร์ทรองต้องมีไอเท็ม ต้องมีเลเวลแล้วไปช่วยทีม การเล่นลักษณะนั้นมันจะทำให้เกมเสีย เพราะคุณดันมาฟาร์มแข่งกับตำแหน่งหลักของทีม ย้ำว่าเน้นการเดินเกม เก็บเงินจากการกำจัดฝ่ายตรงข้าม เหมาะกับใครตำแหน่งนี้ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบความจำเจ ติดอยู่กับแบบแผน ชอบอะไรที่ตื่นเต้นท้าทาย แล้วก็เป็นคนสไตล์แอคแกรสซีฟ คือก้าวร้าวในเกมนะครับ ฮาฮา!! ไม่เกี่ยวกับชีวิตจริง

ซัพพอร์ทหลัก

ตำแหน่งที่ต้องถวายชีวิตให้กับทีม โดยเฉพาะถวายให้ ตำแหน่งแครี่ของทีม เลี้ยงดูปูเสื่อให้แครี่เล่นง่ายที่สุด ตั้งแต่ประคองเลนให้แครี่ฟาร์มสบาย คอยปักหวาด เปิดวิชั่นให้ทีม แสตคครีปให้เพื่อนฟาร์ม ถ้าในจังหวะทีมไฟท์จ่ายสกิลให้หมด แล้วก็ตาย ๆ ไปมีแค่นั้น ถ้าไม่ตายในไฟท์คุณก็ยืนสกิลอยู่หลังเพื่อนเรื่อย ๆ และที่สำคัญต่อให้เกมนั้น ๆ ที่คุณเล่นเกมจะเสียเปรียบอย่างไร ต่อให้คุณไม่มีไอเท็มอะไรเลยในตัว คุณก็ต้องเล่นให้ได้ เหมาะกับใครสำหรับตำแหน่งนี้ ซัพพอร์ทหลักเป็นตำแหน่งที่เล่นยากที่สุดเลยก็ว่าได้ แถมต้องเล่นกับจังหวะมาก ๆ แน่นอนว่าคุณต้องเป็นคนที่ใจเย็น สุขุมพอสมควร ไม่ใจร้อนวู่วาม คิดหน้าคิดหลังให้ดี และต้องเป็นคนที่มีนิสัยเสียสะละพอสมควร

เมื่อเราเริ่มเข้าใจพื้นฐานบ้างแล้วทีนี้มันก็ต้องมาดูกันว่า เราอาจจะเล่นในตำแหน่งไหนอยากจะมีบทบาทอย่างไรกับเกมนี้ ถ้าไม่รู้จริง ๆ ว่าเราชอบเล่นในตำแหน่งไหนก็ลองเล่นมันทุกตำแหน่งดูว่า เราชอบอะไรไม่ชอบอะไร ลองเล่นดูทั้งแบบเกมที่แพ้ และเกมที่ชนะนะครับอย่าเอาเกมชนะ หรือเกมแพ้มาตัดสินใจอย่างเดียว บางครั้งคุณเล่นแครี่ไปเจอเกมที่สบายเล่นง่ายชนะ ก็คิดว่าชอบตำแหน่งนี้แต่พอไปเจอเกมที่ยาก ๆ โดนฝั่งตรงข้ามไล่กดดันทั้งเกม คุณก็อาจจะไม่ชอบแครี่ขึ้นมาก็เป็นไปได้

100 ชั่วโมงแรกก่อนการเข้าไปเล่นในโหมดจัดอันดับ คุณควรหาตัวเองให้เจอให้ได้ว่า คุณอยากเล่นตำแหน่งไหนและคิดว่าเป็นตำแหน่งที่คุณเล่นได้ดีจริง ๆ และคุณรู้สึกสนุกกับมัน อย่าพยายามเล่นไปเรื่อย ๆ อยากเล่นอะไรก็เล่น ใช่ครับการทำแบบนั้นมันไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่มันจะทำให้คุณไม่พัฒนาฝีมือตัวเองและกลับกลายเป็นว่าคุณจะไม่สนุกกับโดต้า2 ไปโดยสิ้นเชิง

มาถึงตรงนี้ผมขออนุมานว่าคุณพอที่จะเข้าใจพื้นฐานของเกมบ้างแล้ว และคิดว่าตำแหน่งนี้และน่าจะเหมาะกับเรา ต่อไปเรากำลังจะพูดถึงเรื่องฮีโร่ของการเล่นโดต้า2 สำหรับมือใหม่ว่า เล่นตำแหน่งนี้ ฮีโร่ตัวไหนควรหยิบมาเล่น และตัวไหนตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ก่อน

ฮีโร่แนะนำตามตำแหน่ง

ตำแหน่งแครี่ – ฮีโร่ที่ควรจะนำมาเล่นในช่วงแรกแนะนำเป็น Juggernaut / Phantom Assassin / Lifestealer /Wraith King และSven ฮีโร่ที่เรายกตัวอย่างมากทั้งหมดนี้ เป็นแครี่เบสิกสำหรับคนที่เล่นตำแหน่งแครี่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และเป็นฮีโร่ควบคุมตัวเดียว ไม่มียูนิตที่ต้องคอยบังคับให้ยุ่งยาก โฟกัสแค่ตัวฮีโร่อย่างเดียว ถามว่าเล่นตัวอื่นได้หรือไม่ ตอบคำคือ “ได้” แต่ให้ตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ก่อน สำหรับมือเราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้จังหวะการเล่น วิธีการฟาร์มเสียก่อน เมื่อเราเริ่มจับจังหวะฮีโร่เบสิกได้แล้ว จึงค่อยขยับไปเล่นฮีโร่ที่เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นภายหลัง

ตำแหน่งเลนกลาง – แนะนำเป็น Skywrath Mage / Lina / Queen of Pain / Viper และZeus มือใหม่เลนกลางเราจะแนะนำเป็นฮีโร่สายเวทย์มนต์ก็เพราะว่า ฮีโร่เหล่านี้เป็นฮีโร่ที่มีดาเมจมาจากสกิลมากกว่า การพึ่งไอเท็มที่จำเป็นต้องฟาร์ม ขอเพียงแค่มีเลเวลเท่านั้นเอง

ตำแหน่งออฟเลน – แนะนำ Tidehunter / Bristleback / Centaur Warrunner / Sand King / Slardar และAxe ฮีโร่เหล่านี้เป็นฮีโร่ที่ตายยาก เพราะต้องอย่าลืมว่าการที่เราต้องไปอยู่ออฟเลน หรือ เลนยากที่เราได้กล่าวไปข้างต้น จำเป็นต้องเป็นฮีโร่ที่ค่อนข้างทนต่อดาเมจที่จะได้รับพอสมควร แถมยังสามารถยืนสู้กับศัตรูได้ดีอีกด้วย

ตำแหน่งซัพพอร์ทรอง – ฮีโร่ที่เหมาะแก่ซัพพอร์ทรองเราแนะนำเป็น Mirana / Sand King / Nyx Assassin / Ogre Magi / Vengefil Spirit / Lion และJakiro อย่างที่บอกว่าตำแหน่ง ซัพพอร์ทรองจะเป็นตำแหน่งที่ต้องเดินทำเกมให้กับเพื่อน ๆ ฮีโร่ที่เราได้ยกตัวอย่างมาทั้งหมด ล้วนมีสกิลหยุดฝ่ายตรงข้ามทั้งสิ้นส่งผลให้ง่ายต่อการกำจัดฝ่ายตรงข้าม และเป็นตัวที่สามารถเล่นกับเพื่อนร่วมทีมได้ทุกตัว (คอมโบ)

ตำแหน่งซัพพอร์ทหลัก – ขอแนะนำ Crystal Maiden / Lion / Shadow Shaman / Ancient Apparition / Undying / Ogre Magi / Witch Doctor และDisruptor ความสามารถของซัพพอร์ทหลักจะคล้ายกับ ซัพพอร์ทรองแต่ซัพพอร์ทหลักจะอยู่กับแครี่ เพื่อประคองไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามกดดันแครี่ของเรามากจนเกินไป และหาจังหวะในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามด้วยเช่นเดียวกัน

ไอเท็มแนะนำตามตำแหน่ง

ก่อนที่เราจะแนะนำว่าจำแหน่งไหนควรออกไอเท็มอย่างไร เราจะแบ่งการออกไอเท็มเป็น 3 ระยะด้วยกันคือ ต้นเกม(1-15 นาที) กลางเกม (15-30นาที) และท้ายเกม (30นาที+)

ตำแหน่งแครี่

ไอเท็มของแครี่ช่วงต้นเกมควรเป็นไอเท็มที่เพิ่มค่าสถานะช่วยในการยืนเลน รองเท้า และไอเท็มช่วยในการฟาร์ม ไอเท็มเพิ่มค่าสถานะได้แก่ Wraith Band / Bracer / Null Talisman ไอเท็มเพิ่มค่าสถานะตามสายของฮีโร่เหล่านี้จะช่วยให้การยืนเลน ดาเมจในการตีครีปในเลนเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ส่วนรองเท้าจะเป็น Power Treads หรือ Phase Boots ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของฮีโร่และสถานการณ์ ส่วนไอเท็มที่ช่วยในการฟาร์ม Hand of Midas / Maelstrom / Yasha / Dragon Lance และBattle Fury (สำหรับฮีโร่ตีระยะปะชิด)

กลางเกม ไอเท็มที่แครี่ควรเริ่มคำนึงถึงคือ ไอเท็มในการต่อสู้ หรือที่เรามักจะได้ยินกันว่า “ทีมไฟท์” พูดง่าย ๆ ก็คือไปร่วมสู้กับเพื่อนร่วมทีมนั้นเอง ไอเท็มที่ควรจะเริ่มนำมาเล่นในช่วงกลางเกมอาทิ Diffusal Blade / Black King Bar / Radiance / Siver Edge / Desolator / Skull Basher / Monkey King Bar และManta ซึ่งไอเท็มที่เรายกตัวอย่างมา จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตอนนั้น พร้อมทั้งฮีโร่ฝ่ายเรา และฮีโร่ฝ่ายตรงข้าม

ท้ายเกม ไอเท็มในช่วงท้ายเกมมันจะมีโจทย์อยู่ไม่กี่อย่างคือ ต้องการดาเมจเพิ่ม ยืนสู้ไม่ไหว ออกไอเท็มแก้ทาง มันจะมีประมาณเท่านี้ สมมติว่าคุณดาเมจไม่พอในช่วงท้ายเกมต้องการเติมดาเมจไอเท็มที่คุณต้องพิจารณาอาจเป็น Daedalus / Monkey King Bar / Refresher Orb หรือ Divine Rapier ถ้ายืนไม่ไหว Eye of Skadi / Heart of Tarrasque / Stanic / Octarine Core และ Aeon disk ส่วนไอเท็มแก้ทาง Linken’s Sphere / Bloodthorn / Abyssal Blade / Scythe of vyse / Siver Edge / Nullifire และ Etheral Blage

ตำแหน่งเลนกลาง

ต้นเกมตำแหน่งเลนกลางจำเป็นต้องออกไอเท็มเพื่อมาสู้ในเลนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเลือด มานา ค่าสถานะ รองเท้า ส่วนต้นเกมไอเท็มจะเป็นการสร้างจังหวะให้กับทีมและตัวเอง หรือเป็นดาเมจไปทำเกมเลยก็สามารถเป็นไปได้ อาทิ Eul’s Scepter of Divinity / Dagon / Veil of Discord / Spirit Vessel / Orchid Malevolence / Rod of Atos / Drum of Endurance และBlink Dagger

กลางเกม เน้นไอเท็มทีมไฟท์ เพราะตำแหน่งเลนกลางจะมีบทบาทที่เต็มตัวในการขับเคลื่อนเกม Black King Bar / Aghanim’s Scepter / Heaven’s Halberd / Solar Crest หรือไอเท็มตามสถานการณ์และตัวฮีโร่ ไอเท็มที่เรายกตัวอย่างมา เป็นเพียงตัวอย่างให้เห็นว่า เป็นไอเท็มที่มีผลต่อทีมไฟท์

ท้ายเกมจะเป็นลักษณะเดียวกับแครี่ เพราะเลนกลางจะเปรียบเสมือนแครี่อีก 1 ตัวเช่นเดียวกัน แต่เป็นต้องเป็นฮีโร่ที่เดินเกมได้

ตำแหน่งออฟเลน

จะเป็นไอเท็มช่วยทีมเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่ไอเท็มออร่า ไปจนถึงไอเท็มทีมไฟท์ ถ้าต้นเกมแน่นอนว่าต้องเป็นไอเท็มช่วยในการยืนเลน เสมือนตำแหน่งทั่วไป แต่ไอเท็มในทีมไฟท์จะมีความแตกต่างออกไปไอเท็มออร่าคืออะไร ก็คือไอเท็มอะไรก็ตามแต่ที่เพื่อนร่วมทีมได้ผลประโยชน์ตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นออร่า เกราะ เลือด มานา ดาเมจต่าง ๆ ไอเท็มออฟเลนมักจะเป็น Crimson Guard / Solar Crest / Pipe of Insight / Vladmir’s Offering / Lotus Orb / Shiva’s Guard / Assault Cuirass / Heaven’s Halberd / Guardian Greaves และDrum of Endurance ถ้าเป็นเกมที่คุณต้องเข้าร่วมทีมไฟท์ตั้งแต่เริ่มต้น การออกไอเท็มแก้ทางฝ่ายตรงข้ามเลยจะเป็นเรื่องที่ดีมาก อย่างเช่น Pipe of Insight เวลาเจอฝ่ายตรงข้ามสกิลเวทย์หนัก ๆ หรือตัวดาเมจฝ่ายตรงข้ามเป็นตัวที่อาศัยดาเมจมากการโจมตีธรรมดาเป็นหลักก็ออก Heaven’s Halberd มาแก้ทางมันจะส่งผลให้ทีมของคุณเล่นง่ายมาก หรือถ้าต้องทำเกมร่วมกับซัพพอร์ท สมมติว่าในกรณีเลนกลางเราสู้ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ เราต้องเดินเกมก่อนไอเท็มอย่าง Blink Dagger / Eul’s Scepter of Divinity อาจเป็นตัวเลือกที่ดีในเกมนั้น ๆ

ตำแหน่งซัพพอร์ทรอง

ไอเท็มที่ขาดไม่ได้ 2 ชิ้นเลยคือ รองเท้า และ Magic Wand เพื่อการเดินเกมได้อย่างลื่นไหล หรือถ้าในเกมนั้น ๆ ทีมของคุณได้เปรียบมาก ๆ การออก Bottle มาเดินเก็บ Rune ก็เป็นทางเลือกทีดีเช่นเดียวกัน ตำแหน่งซัพพอร์ทรองจำเป็นต้องออกไอเท็มตามสถานการณ์และฮีโร่ที่เจอ โดยธรรมชาติแล้วตำแหน่งซัพพอร์ทรอง ไอเท็มหลัก ๆ ที่ควรจะซื้อมักจะเป็น Smoke of Deceit และ Town Portal Scroll ไอเท็ม 2 ชิ้นนี้ซัพพอร์ทรองจำเป็นต้องพกติดตัวตลอดเวลา Dust of Appearance (ในกรณีเจอฮีโร่หายตัว) ไอเท็มที่ซัพพอร์ทรองควรออกเราแนะนำ Arcane Boots / Force Staff / Urn of Shadows / Eul’s Scepter of Divinity / Rod of Atos / Glimmer Cape / Ghost Scepter (ในกรณีเจอฮีโร่ที่มีดาเมจจากการโจมตีธรรมดา) เช่นพวก Juggernaut / Phantom Assassin / Lifestealer /Wraith King / Sven และSlark อะไรพวกนั้น ส่วน Observer Ward และ Sentry Ward ซื้อช่วยซัพพอร์ทหลักบ้างถ้าเพื่อนอยากให้ช่วยซื้อ

ตำแหน่งซัพพอร์ทหลัก

ในชีวิตของซัพพอร์ทหลักคงซื้อได้แค่ รองเท้า / Observer Ward และ Sentry Ward ฮาฮา!! ในช่วงท้ายของเกมส่วนมากซัพพอร์ทหลักจะออกไอเท็มยื้อตัวเองให้ได้นานที่สุดอย่าง Glimmer Cape / Force Staff เพื่อถ่วงเวลาให้ฝ่ายตรงข้ามมาเสียเวลากับเราให้ได้มากที่สุด แต่อย่างที่เราได้กล่าวไปข้างต้นตำแหน่งนี้ค่อนข้างเป็นตำแหน่งที่รู้สึกเหมือนต้องเสียสละ แต่อยากให้คิดแบบนี้ว่ามันเป็นหน้าที่ของตำแหน่งนี้จริง ๆ แต่ไม่ใช่ตำแหน่งที่ใครจะเล่นให้ออกมาดีได้ง่าย ๆ อย่าดูถูกว่าคนที่เล่นซัพพอร์ทต้องเป็นคนที่เล่นไม่เก่ง เลยต้องไปเล่นซัพพอร์ท

และข้อมูลทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงไม่กี่ส่วนในเกม Dota2 คุณเองจำเป็นต้องเข้าไปเรียนรู้ เกมยังมีอะไรให้คุณค้นหาอีกมากมาย พร้อมเทคนิคต่าง ๆ สิ่งที่จะเป็นตัวช่วยให้คุณเล่นออกมาได้ดีมากที่สุดในช่วงแรกเลยคือ “การสื่อสาร” คุณต้องพยายามสื่อสารกับคนในทีมของคุณให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บางครั้งเพื่อนพร้อม เราไม่พร้อม สกิลยังโหลดไม่เสร็จ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้พยายามสื่อสารให้ได้ถึงแม้ว่าเพื่อนร่วมทีมของคุณจะพูดภาษาเดียวกันไม่ได้ หรือต่างคนต่างสื่อสารภาษาสากลไม่ได้ การให้สัญลักษณ์ต่าง ๆ จะเป็นส่วนช่วยที่ดีมาก อย่างเช่นการบอกว่าสกิลเราติดคลูดาวน์ ฝ่ายตรงข้ามหายไป เรากำลังจะไปช่วย หรือเพื่อนกำลังโดนแก๊งค์ อะไรเหล่านี้จะเป็นส่วนช่วยให้คุณมีประสบการณ์ที่ดีกับ Dota2

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับมือใหม่ ขอให้สนุกกับ 100 ชั่วโมงแรกก่อนโลกของ Dota2 ขอบคุณครับ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments

error: Content is protected !!